แนะนำภาควิชารังสีเทคนิค

รังสีเทคนิค raduse เป็นวิชาชีพ ที่ว่าด้วย การใช้รังสี เพื่อ การวินิจฉัย และ รักษาโรค อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และ ได้ผล และ เพื่อ การวิจัยทางการแพทย์ ได้แก่ การถ่ายภาพเอกซเรย์ ส่วนต่าง ๆ ของ ร่างกาย การตรวจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจหรือรักษา โดย ใช้สารกัมมันตรังสี เช่น การตรวจ และ รักษาโรค ต่อมไธรอยด์เป็นพิษ และ คอพอก การตรวจฝีในตับ การตรวจหาตำแหน่งการกระจายของมะเร็ง รวมทั้ง การใช้รังสี เพื่อรักษาโรค เช่น การฉายรังสีเอกซ์ แกมม่า หรือ อิเล็กตรอน การใส่สารกัมมันตรังสี หรือ ฝังเข็มกัมมันตรังสี รักษามะเร็ง เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา
      ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเปลี่ยนสถานภาพจากการเป็นหน่วยงานราชการเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐบาล และ เป็นหน่วยงานที่ไม่มุ่งเน้นแสวงหากำไร โดยภาควิชาเป็นสาขาวิชาลำดับที่สองของคณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งมีโครงการจัดตั้งภาควิชาและได้รับการอนุมัติให้เป็นภาควิชาลำดับที่ 5 ของคณะเทคนิคการแพทย์ (สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ขณะนั้นมี 4 ภาควิชา) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2520 โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สนาน สิมารักษ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดตั้งภาควิชา ภาควิชารังสีเทคนิค มีหน้าที่หลัก 4 ประการ สอดคล้องตามภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือ การเรียนการสอนการวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิครุ่นที่ 1 เมื่อ ปีการศึกษา 2522 มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 8 คน และ จบการศึกษาเป็นบัณฑิตรุ่นแรกจำนวน 5 คน ซึ่งทุกคนจบการศึกษาตามกำหนดของหลักสูตร และบัณฑิตรุ่นนี้รับราชการในสาขาวิชาชีพที่จบไปทั้งหมด การผลิตบัณฑิตเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นลำดับจนถึงปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วมากกว่า 800 คน

สถานภาพปัจจุบัน
ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหลักสูตรเปิดสอน  3 หลักสูตร ได้แก่
1. ระดับปริญญาตรีสาขารังสีเทคนิค  จำนวนรับนักศึกษาปีละ  70 คน
2. ระดับปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์รังสีการแพทย์ จำนวนรับนักศึกษาปีละ 5-10 คน
3. ระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ โดยมี  ปีละ 3-5 คน